เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก หรือ พระครูขี้หอม

เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก : พระครูยอดแก้ว “ญาคูขี้หอม”

 

ใน ปี 2241 เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าสุริยวงศาธรรมาธิราช สวรรคตได้ 8 ปี ประเทศลาวที่กว้างใหญ่ไพศาลได้ถูกแบ่งออกเป็น 3 อาณาจักร เป็นอาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ และอาณาจักรล้านช้างจำปาสัก  โดยเฉพาะอาณาจักรล้านช้างจำปาสัก มีความผูกพันกับพระครูยอดแก้วโพนสะเม็ก ซึ่งเป็นพระครูที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่เคารพศรัทธาสูงสุดของชาวลาวตอนล่าง จนได้รับฉายาว่า “พระครูขี้หอม” หรือ “ญาคูขี้หอม” ด้วยความเลื่อมใสศรัทธาอย่างสุดซึ้ง ส่งผลให้ผู้คนเก็บสิ่งของเครื่องใช้ของท่านพระครูมาบูชา แม้แต่อุจจาระของท่านก็ไม่รังเกียจ เนื่องจากพระครูยอดแก้วโพนสะเม็กฉันอาหารมังสวิรัติประเภท เผือก มัน งา มะตูม จึงทำให้อุจจาระของท่านไม่มีกลิ่นเหม็น
“เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก” เกิด ณ บ้านกะลึม เมืองพาน (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี) ตรงกับรัชสมัยแผ่นดินพระเจ้าปราสาททองของกรุงศรีอยุธยา อันเป็นยุคเดียวกับพระอุปราชครองกรุงเวียงจันทน์ เจ้าราชครูได้บรรพชาศึกษาเล่าเรียนทางธรรมอย่างแตกฉานมาตั้งแต่อายุยังน้อย จนได้รับการสถาปนาเป็น “ซาจัว” หรือราชาเณร
ภายหลังการอุปสมบทแล้ว ได้มาประจำอยู่วัดโพนสะเม็ก ชานเมืองเวียงจันทน์ จนได้รับแต่งตั้งให้มีฐานันดรสมณศักดิ์เป็นเจ้าราชครูตั้งแต่ยังเป็นพระหนุ่ม จากพระเจ้าสุริยวงศา พระเจ้าแผ่นดิน แห่งกรุงเวียงจันทน์ แต่ประชาชนทั่วไปมักขนานนามว่า “พระครูยอดแก้วโพนสะเม็ก”
พระครูยอดแก้วโพนสะเม็ก เกี่ยวข้องผูกพันกับอาณาจักรจำปาสัก เมื่อครั้งลาวเกิดความแตกแยกจนถึงขั้นแบ่งแยกอาณาจักรล้านช้างออกเป็น 3 อาณาจักร ครั้นพระเจ้าสุริยวงศาธรรมาธิราช สิ้นพระชนม์ เกิดการแย่งชิงบัลลังก์ ระหว่างกลุ่มของเจ้าพระยาหลวงเมืองจัน กับกลุ่มของเจ้าชายองค์หล่อ ในที่สุดเจ้าพระยาหลวงเมืองจันสามารถยึดอำนาจได้ จึงสถาปนาตนเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่ก็ยังมีกลุ่มต่างๆ ที่ไม่เห็นด้วยเกิดขึ้นอีกหลายกลุ่ม ที่พยายามแยกอำนาจเป็นอาณาจักรย่อยๆ ไม่ขึ้นต่อกัน
เมื่อครั้งเจ้าพระยาหลวงเมืองจัน สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ ใน พ.ศ. 2237 ใช้อำนาจบังคับพระนางสุมังคลา ราชธิดาของพระเจ้าสุริยวงศาธรรมาธิราช ซึ่งเป็นหม้ายและกำลังทรงพระครรภ์อยู่ อีกทั้งมีโอรสองค์หนึ่งชื่อ เจ้าองค์หล่อ รวมไปถึงการคิดจะกำจัดเจ้าองค์หล่อด้วย แต่อำมาตย์ที่จงรักภักดีได้พาเจ้าองค์หล่อหนีไปอยู่เมืองพานพูชุน ส่วนพระนางสุมังคลาหนีไปพึ่งพระครูยอดแก้วโพนสะเม็ก
ครั้นเจ้าพระยาหลวงเมืองจันทราบข่าว ก็คิดจะกำจัดพระครูยอดแก้วด้วย แต่ท่านพระครูรู้ตัวเสียก่อน จึงพานางสุมังคลาและญาติโยมประมาณ 3,000 คน หนีภัยจากเวียงจันทน์ ล่องแม่น้ำโขงลงสู่ภาคใต้ ฝ่ายเจ้าพระยาหลวงเมืองจันครองราชย์ได้ 6 เดือน ก็ถูกฝ่ายเจ้าองค์หล่อจับฆ่า แล้วอภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เจ้าองค์หล่อครองราชย์ได้ 4 ปี ก็ถูกเจ้านันทราชจับประหารชีวิต ใน พ.ศ. 2242 แล้วขึ้นครองราชย์แทน ส่วนเจ้านันทราชครองบัลลังก์ได้เพียง 2 ปี ก็ถูกเจ้าไชยองค์เว้จับประหารชีวิตอีก เจ้าไชยองค์เว้ก็ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 2 จากนั้นจึงแต่งตั้งเจ้าลองเป็นอุปราชขึ้นไปครองเมืองหลวงพระบาง
หลังจากพระครูยอดแก้วโพนสะเม็กกับประชาชนอพยพลงใต้ตามลำน้ำโขง มาจนถึงเมืองนครพนม พระครูยอดแก้วและญาติโยมได้พากันบูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนม ใน พ.ศ. 2233
หลังจากที่พระครูยอดแก้วโพนสะเม็กบูรณะพระธาตุพนมสำเร็จเรียบร้อย ใน พ.ศ. 2236 แล้ว ได้แบ่งครอบครัวจำนวนหนึ่งให้อยู่อุปัฏฐากพระบรมธาตุ ส่วนผู้คนที่เหลือนอกนั้นได้นำลงเรือลอยไปตามลำน้ำโขง จนล่วงเข้าสู่แดนเขมรในที่สุด
เมื่อฝ่ายเขมรทราบข่าว ก็ไม่อนุญาตให้คณะของพระครูยอดแก้วโพนสะเม็กอยู่ในดินแดน พระครูยอดแก้วจึงต้องอพยพผู้คนกลับขึ้นมาพำนัก และสร้างชุมชนสำคัญหลายแห่งในบริเวณเกาะดอนกลางแม่น้ำโขง บริเวณที่เรียกว่า “สี่พันดอน” โดยเฉพาะ “ดอนโขง” พระครูยอดแก้วและชาวเวียงจันทน์ที่อพยพติดตามมานั้นได้พากันตั้งชุมชนอยู่ที่ “บ้านเมืองแสน” ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ อยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของดอนโขง เป็นหมู่บ้านท่าด่าน ทำการค้ากับเขมร  นอกจากนี้ ยังได้สร้าง “เมืองโขง” หรือ “เมืองสีทันดร” ในช่วงเวลาต่อมา ปัจจุบันเป็นเมืองศูนย์กลางของมหานทีสี่พันดอน
ที่่มา ภูมิปัญญาท้องถิ่น
รศ.ดร. บุญยงค์ เกศเทศ matichon.co.th วันที่ 01 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 24 ฉบับที่ 528
คลืกดูประวัติเพิ่มเติม

77645-Article Text-186193-1-10-20170218